ยินต้อนรับเข้าสู่บล๊อก ของ..." เขาเรียกหนูว่า กล้วย ( เน่า ) "

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

60 ปีไทยโทรทัศน์



         ''สถานีไทยโทรทัศน์'' ซึ่งมีวาระครบ 60 ปี ก็คือสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย คือกำเนิดเกิดขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2495
ที่เรียกกันว่า ''สถานีไทยโทรทัศน์ช่อง 4'' ในสมัยนั้นที่ทำการอยู่วังบางขุนพรหม แพร่ภาพออกอากาศด้วยระบบโทรทัศน์ขาวดำ มีกำลังส่งออกอากาศยังไม่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ เป็นสื่อสารแปลกใหม่ในสมัยก่อน 25 พุทธศตวรรษ ประชาชนคนคู่มีจำนวนไม่มาก เพราะเครื่องรับโทรทัศน์มีราคาสูงมาก หากเปรียบเทียบกับเครื่องรับวิทยุแล้ว แพงกว่าเป็นสิบ...สิบเท่า
         สมัยก่อนเก่า เครื่องรับวิทยุราคาหลักร้อย แต่เครื่องรับโทรทัศน์ราคาหลักหมื่น เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีระบบผ่อนส่งเครื่องรับโทรทัศน์ขึ้นอย่างแพร่หลาย
       ''สถานีไทยโทรทัศน์'' ซึ่งสมัยนั้นสังกัดอยู่กับกรมประชาสัมพันธ์ มีทั้งสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์พร้อมกัน
        สถานีโทรทัศน์ที่ทำการอยู่ในวังบางขุนพรหม ซึ่งอยู่ระหว่างบางลำพูกับเทเวศร์
        ส่วนสถานีวิทยุอยู่ที่ตึกริมถนนราชดำเนิน บริเวณ ''สี่แยกคอวัว''
ประชาชนคนฟังวิทยุและดูโทรทัศน์เรียกรวมกันว่า ''ททท.'' ซึ่งเป็นคำย่อของคำว่า ''สถานีไทยโทรทัศน์'' 
        การแพร่ภาพออกอากาศของสถานีโทรทัศน์สมัยนั้น จะเริ่มตอนเย็นประมาณสี่...ห้าโมงเย็น และจะปิดสถานีตอนห้าทุ่ม บางคืนก็อาจจะถึงเที่ยงคืน ถ้ารายการโทรทัศน์ซึ่งสมัยนั้นทั้งละครโทรทัศน์ และรายการต่างๆ จะจัดกันสดยังไม่เสร็จสิ้น ผิดไปจากทุกวันนี้ ทั้งภาพยนตร์โทรทัศน์ ที่ยังเรียกกันผิด...ผิดว่า ''ละครโทรทัศน์'' รวมทั้งรายการวาไรตี้ต่างๆ จะอัดกันไว้ล่วงหน้า จะเว้นไว้ก็เพียงรายการข่าว ที่จะต้องรายงานสด อัดล่วงหน้าแบบภาพยนตร์และรายการวาไรตี้ต่างๆ ไม่ได้
        รายการโทรทัศน์ในสมัยนั้น แตกต่างไปจากรายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน คือเจ้าหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์จะเป็นผู้จัดทำเอง...ไม่อนุญาตให้คนนอกเข้ามาจัดรายการ พนักงานของสถานีโทรทัศน์ทุกคนทั้งหญิงชาย จึงเป็นผู้มีความสามารถรอบตัว คือเป็นได้ทั้งเจ้าหน้าที่ของสถานี ซึ่งมีภาระแตกต่างกันไป แต่ก็สามารถเป็นพิธีกรผู้ประกาศข่าว เป็นนักแสดงละคร หรือแสดงศิลปะต่างๆ ที่เรียกได้ว่า ทั้งร้องทั้งรำได้พร้อมสรรพ แตกต่างไปจากสถานีโทรทัศน์สมัยนี้ ที่พนักงานขององค์กรเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ทำงานในภาระที่รับผิดชอบ แต่การแสดงทั้งหลายได้มาจากคนภายนอกหมด และที่สำคัญก็คือ การโฆษณาที่มีมากมายจนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย จึงทำให้เกิดมีสถานีโทรทัศน์ที่เรียกว่า ''สถานีโทรทัศน์ประชาชน'' อย่าง ''ไทยพีบีเอส'' เกิดขึ้นมา
         หกสิบปี...ของสถานีไทยโทรทัศน์กับสามสิบห้าปีของสถานีโทรทัศน์ ''อสมท'' มีความแตกต่างกันมากมาย ไม่ใช่เพียงตัวเลขของช่องซึ่งสมัยก่อนเรียกกันว่า ''สถานีโทรทัศน์ช่อง 4''
แต่ปัจจุบันนี้เรียกว่า ''สถานีโทรทัศน์ช่อง 9'' หรือจะเรียกให้เต็มก็ต้องเรียกว่า ''สถานีโมเดิร์นไนน์''
          แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร หรือจะมีความแตกต่างกันเพียงไหนแต่ก็ขอแสดงความยินดีในวาระที่ทั้งสองสถาบันมีอายุยืนยาวกันมานาน อายุยืนยาวถึงเพียงนี้ จะเห็นได้ว่าโทรทัศน์ กำลังมีอิทธิพลบทบาทมากในสังคมนักดู (โทรทัศน์) ซึ่งนับวันก็จะมีมากกว่าสังคมนักอ่าน (หนังสือพิมพ์) จนอาจกล่าวได้ว่า โทรทัศน์เป็นจักรพรรดิของสื่อมวลชนในยุคดิจิตอลเช่นทุกวันนี้
"สันติ เศวตวิมล"


ประวัติความเป็นมา

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (อังกฤษModernine TV) เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย บริหารงานโดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.อสมท โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ในนาม สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ที่ตั้งปัจจุบัน อยู่ภายในที่ทำการ บมจ.อสมท เลขที่ 63/1 ถนนพระรามที่ 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความเป็นมา ดังนี้

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 (อังกฤษ: Thai Television Channel 4 ชื่อย่อ: ไทย ที.วี.) เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Co.,Ltd. ชื่อย่อ: ท.ท.ท.) จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 มีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ว่า HS1-TV มีที่ทำการตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน อันเป็นที่มาของชื่อสถานีฯ ที่รู้จักกันทั่วไปคือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม

กล้องช่อง 4 บางขุนพรหม

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 มีที่มาเริ่มแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 เมื่อนายสรรพสิริ วิรยศิริ ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ เขียนบทความลงในหนังสือเล่มหนึ่ง เผยแพร่เทคโนโลยีการสื่อสารชนิดใหม่ในขณะนั้น โดยให้ชื่อบทความว่า "วิทยุภาพ" ต่อมา ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมฯ ให้ไปศึกษางานด้านโทรทัศน์ ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2492-2493 หลังจากกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็แสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาล ถึงการจัดตั้งกิจการโทรทัศน์ว่า "ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมี เทเลวิชัน" จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงสั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์ นำเสนอ "โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ" ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2493 โดยมีมติให้จัดตั้ง สถานีวิทยุโทรภาพ และตั้งงบประมาณขึ้น ในปีถัดมา (พ.ศ. 2494) แต่ไม่ประสบความสำเร็จในระยะแรกเริ่ม จึงต้องยกเลิกโครงการดังกล่าวไปโดยปริยาย เนื่องจากเสียงส่วนมาก ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่า สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ไปโดยเปล่าประโยชน์
อนึ่ง นายประสิทธิ์ ทวีสิน ประธานกรรมการ บริษัท วิเชียรวิทยุและโทรภาพ จำกัด นำเครื่องส่งโทรภาพ 1 เครื่อง และเครื่องรับ 4 เครื่อง น้ำหนักรวมกว่า 2 ตัน ทำการทดลองออกอากาศ ให้คณะรัฐมนตรีชมเป็นครั้งแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล และเมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ก็เปิดฉายให้ประชาชนรับชม ที่ศาลาเฉลิมกรุง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ต่อมา ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ปีเดียวกันนี้ (พ.ศ. 2495) มีรัฐมนตรี และข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ส่วนหนึ่ง จำนวน 7 คน ซึ่งประกอบด้วย หลวงสารานุประพันธ์, หม่อมหลวงขาบ กุญชร, นายประสงค์ หงสนันทน์, พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์, นายเล็ก สงวนชาติสรไกร, นายมุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์ และ นายเลื่อน พงษ์โสภณ เล็งเห็นถึงคุณค่าของการพัฒนาประเทศ ด้วยการใช้สื่อโทรภาพ เพื่อเผยแพร่กระจาย ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และเสริมสร้างคุณภาพ ของประชาชนในประเทศ จึงระดมทุนจากกรมประชาสัมพันธ์ ให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 11 ล้านบาท และหน่วยงานภาครัฐอีก 8 แห่ง ถือหุ้นมูลค่า 9 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท ร่วมกันนำมาเป็นทุนจัดตั้ง "บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด" ขึ้นเพื่อดำเนินการส่งโทรทัศน์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด มีคณะผู้ปฏิบัติงานในยุคแรก ได้แก่ นายจำนง รังสิกุล เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตรายการ, นายอัมพร พจนพิสุทธิ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายกำกับภาพ, นายสมชาย มาลาเจริญ เป็นหัวหน้าฝ่ายช่างกล้อง, นายธนะ นาคพันธุ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายควบคุมการออกอากาศ, นายเกรียงไกร (สนั่น) ชีวะปรีชา เป็นหัวหน้าฝ่ายเครื่องส่ง, นายธำรง วรสูตร และ นายฟู ชมชื่น ร่วมกันเป็นหัวหน้าฝ่ายเครื่องส่งและเสาอากาศ, นายจ้าน ตัณฑโกศัย เป็นหัวหน้าฝ่ายกำกับเสียง, นายสรรพสิริ วิรยศิริ เป็นทั้งหัวหน้าฝ่ายช่างภาพและแสง และหัวหน้าฝ่ายข่าว และ นายรักษ์ศักดิ์ วัฒนพานิช เป็นหัวหน้าฝ่ายบริการเครื่องรับโทรทัศน์
บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ดำเนินการจัดตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ขึ้นก่อนจะมีสถานีโทรทัศน์ เพื่อระดมทุนมาบริหารงาน และฝึกบุคลากร รวมทั้งเตรียมงานด้านอื่นไปพร้อมกันด้วย โดยส่งกระจายเสียงจากอาคารที่ทำการสถานีฯ บริเวณแยกคอกวัว และเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2497 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 โดยมี พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธี ขณะเดียวกัน ก็เริ่มทดลองออกอากาศ จากห้องส่งของสถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. เมื่อสร้างอาคารที่ทำการ พร้อมติดตั้งเครื่องส่ง เสร็จสิ้นแล้ว จึงมีพิธีเปิด สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งตรงกับวันชาติในสมัยนั้น โดยมี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี โดยมี นายจำนง รังสิกุล เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการสถานีฯ คนแรก โดยใช้เครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ แพร่ภาพขาวดำ ระบบ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที ในช่วงแรก มีการแพร่ภาพทุกวันอังคาร, วันพฤหัสบดี, วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 18.30-23.00 น. ต่อมา จึงเพิ่มวันและเวลาออกอากาศ มากขึ้นตามลำดับ

เสาส่งช่อง 4 บางขุนพรหม
เพลงเปิดการออกอากาศ ของทั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 และสถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด คือเพลง "ต้นบรเทศ" (ซึ่งปัจจุบันเป็นเพลง ต้นวรเชษฐ์[1]) ในวันออกอากาศวันแรก มีนางสาวอารีย์ นักดนตรี ผู้ประกาศ รำบรเทศออกอากาศสด และนางสาวเย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ เป็นผู้ประกาศแจ้งรายการ โดยผู้ประกาศในยุคแรก จะเป็นสุภาพสตรี ได้แก่ นางสาวเย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ (ปัจจุบันคือ นางเย็นจิตต์ รพีพัฒน์ ณ อยุธยา), นางสาวอารีย์ นักดนตรี (ปัจจุบันคือ นางอารีย์ จันทร์เกษม), นางสาวดาเรศร์ ศาตะจันทร์, นางสาวนวลละออ ทองเนื้อดี (ปัจจุบันคือ นางนวลละออ เศวตโสภณ), นางสาวชะนะ สาตราภัย และนางสาวประไพพัฒน์ นิรัตพันธ์ ส่วนผู้ประกาศข่าว จะเป็นสุภาพบุรุษ ได้แก่ นายสรรพสิริ วิรยศิริ, นายอาคม มกรานนท์, นายสมชาย มาลาเจริญ และนายบรรจบ จันทิมางกูร
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยสมัยนั้น ใช้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ในการถ่ายทอดการปราศรัยของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี, เผยแพร่ผลงานของรัฐบาล, ถ่ายทอดการประชุมรัฐสภา ตลอดจนถ่ายทอดสดงานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. 2500 แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น จึงส่งผลให้กองทัพบก โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น สั่งการให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นอีกแห่งหนึ่งคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ขาว-ดำ หรือปัจจุบันคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5) ในระหว่างปี พ.ศ. 2500-2501

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 และ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.

ราวประมาณต้นเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2517 บจก.ไทยโทรทัศน์ ยุติการออกอากาศ ในระบบขาวดำ 525 เส้น ทางช่อง 4 โดยย้ายห้องส่งโทรทัศน์ ไปยังอาคารสำนักงานใหญ่ย่านถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู เพราะเนื่องจากในปีพ.ศ. 2502 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ขอซื้ออาคารที่ทำการของไทยทีวีช่อง 4 และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดของวังบางขุนพรหม โดยแลกกับ บ้านมนังคศิลา ในราคา 39 ล้านบาท
และในปีเดียวกัน ก็เปลี่ยนช่องสัญญาณ และระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำ ในระบบวีเอชเอฟ ทางช่อง 4 เป็นภาพสี ในระบบวีเอชเอฟ 625 เส้น ทางช่อง 9 อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 (อังกฤษ: Thai Television Channel 9) และเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ ในเมื่อราวปี พ.ศ. 2517
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บจก.ไทยโทรทัศน์ ส่งผลให้การดำเนินงานของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 สิ้นสุดลงด้วย ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2520 โดยให้จัดตั้งหน่วยงานชื่อ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: The Mass Communication Organisation of Thailand ชื่อย่อ: อ.ส.ม.ท.; M.C.O.T.) ให้เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐ ให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่น่าเชื่อถือ ต่อสาธารณชน โดยรัฐบาลไทย มอบทุนประเดิมไว้ เป็นจำนวน 10 ล้านบาท และให้รับโอนกิจการสื่อสารมวลชน ของ บจก.ไทยโทรทัศน์ ซึ่งประกอบด้วย สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 มาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นวันสถาปนา อ.ส.ม.ท. ทำให้สถานีโทรทัศน์เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. โดยอัตโนมัติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อาคารที่ทำการ อ.ส.ม.ท. บนเนื้อที่ 14 ไร่ ที่มีห้องส่งโทรทัศน์ ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น เมื่อเวลา 09:25 นาฬิกา ของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524[2] ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2529 ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิธีกรรายการความรู้คือประทีปในขณะนั้น ตอบรับคำเชิญของ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในขณะนั้น ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการนำเสนอ ข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ร่วมกับ บริษัท แปซิฟิก คอร์ปอเรชั่น จำกัด ส่งผลให้ผู้ประกาศข่าวคู่ ที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นก็คือ ดร.สมเกียรติ และนางสาวกรรณิกา ธรรมเกษร
วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 อ.ส.ม.ท.ร่วมลงนามในสัญญากับ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เพื่อขยายเครือข่ายกิจการโทรทัศน์ ไปสู่ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานภาครัฐฯ จัดสรรคลื่นความถี่ส่ง ด้วยระบบวีเอชเอฟ พร้อมอุปกรณ์การออกอากาศ เพื่อจัดตั้งสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ในการกำกับของ อ.ส.ม.ท.แต่ละแห่ง (ระยะหลังจึงขยายไปสู่ระบบยูเอชเอฟ) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2531-เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2534 เป็นระยะเวลา 3 ปี จึงทำให้ สถานีโทรทัศน์ในการกำกับของ อ.ส.ม.ท. ทั้งสองแห่ง สามารถออกอากาศไปได้ทั่วประเทศ
ราวปี พ.ศ. 2535 นาย แสงชัย สุนทรวัฒน์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ในช่วงที่ อ.ส.ม.ท.ถูกเรียกว่า แดนสนธยาเนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลมืด ฝังตัวอยู่ในองค์กร แต่นายแสงชัย ก็สามารถขจัดอิทธิพลมืด เหล่านั้นได้สำเร็จ รวมถึงสามารถพัฒนา อ.ส.ม.ท.ขึ้นมาเป็นอย่างดี แต่แล้ว นายแสงชัยก็ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืน เสียชีวิตระหว่างนั่งรถยนต์ เดินทางกลับบ้านพัก ที่เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ จากผลการสอบสวนของตำรวจ ระบุว่า นางอุบล บุญญชโลธร อดีตผู้ได้รับสัมปทานจัดรายการ ทางสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท.ส่วนภูมิภาค จ้างวานให้ นายทวี พุทธจันทร์ บุตรเขย ส่งมือปืนไปลอบสังหารนายแสงชัย ต่อมา นางอุบลถูกลอบสังหาร เสียชีวิตบนรถยนต์ ก่อนกลับถึงบ้านพัก เช่นเดียวกับนายแสงชัย

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

ด้วยตามดำริของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในขณะนั้น ที่ต้องการปรับปรุงการบริหารงานของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และฉับไว ในด้านการนำเสนอ รายงานข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิง เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพื่อขจัดความเป็น "แดนสนธยา" ภายในองค์กรอีกด้วย
ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 จึงมีพิธีเปิดตัว สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของสถานีฯ และปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอ เป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เพิ่มข่าวต้นชั่วโมง และแถบตัววิ่งข่าว (News Bar) เพิ่มช่วงแมกกาซีนออนทีวี ในข่าวภาคค่ำ นำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้ ในประเด็น และการนำเสนอแบบสบายๆ โดยใช้วิธีการนำเสนอแบบนิตยสาร รวมถึงประกาศเพิ่มความสัมพันธ์ และเพิ่มบทบาทกับ เครือข่ายข่าวชั้นนำทั่วโลก เช่น สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (สหรัฐอเมริกา) สถานีโทรทัศน์บีบีซี (สหราชอาณาจักร) สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค (ญี่ปุ่น) สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (จีน) เป็นต้น โดยเริ่มออกอากาศในรูปแบบใหม่ดังกล่าว ตั้งแต่เวลา 18.30 น.เป็นต้นไป แต่ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อสถานีฯ ไปแล้ว แต่คนไทยส่วนมาก ก็ยังนิยมเรียกชื่อสถานีฯ ว่า ช่อง 9 ตามเดิม
สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์ การออกอากาศโทรทัศน์ ตลอดจนการควบคุมการออกอากาศ โดยแพร่ภาพออกอากาศ จากกรุงเทพมหานคร ไปยังสถานีเครือข่าย ในส่วนภูมิภาค 32 สถานี สามารถให้บริการ ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 79.5 ของประเทศ มีประชากรในขอบเขตการออกอากาศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 96.5 ของประเทศ โดยมีรายการประเภทข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิง กีฬา และรายการเพื่อสาธารณประโยชน์ รวมทั้งถ่ายทอดสดต่างๆ ซึ่งได้จัดรายการประเภทข่าวสาร และสาระความรู้ ในด้านต่างๆ มานำเสนอในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ที่มีผู้ชมมากที่สุด เพื่อให้ผู้ชม ได้รับข่าวสาร และความรู้ ที่เป็นประโยชน์ อย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งหวังว่า จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชน
มีเหตุการณ์สำคัญที่สถานีฯ เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คือเมื่อเวลา 22.15 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสหรัฐอเมริกา ถ่ายทอดสดทางโมเดิร์นไนน์ทีวี แต่อ่านแถลงการณ์ได้เพียงสามฉบับ ก็มีกำลังพลทหารพร้อมด้วยอาวุธกลุ่มหนึ่ง บุกยึดเข้าไปยังสถานีฯ พร้อมออกคำสั่งให้หยุดการแพร่ภาพทันที จึงทำให้เจ้าหน้าที่สถานีฯ ต้องปฏิบัติตามในที่สุด
นายจักรพันธุ์ ยมจินดา รองประธานกรรมการ ในฐานะ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท แถลงปรับปรุงรายการข่าวโทรทัศน์ของสำนักข่าวไทย ว่าจะใช้เทคโนโลยีวิดีโอวอลล์ ขนาดความยาว 20 เมตร ความกว้าง 3 เมตร กับการรายงานข่าวในช่วงเวลาต่างๆ และจะใช้เฮลิคอปเตอร์ในการรายงานข่าวเป็นครั้งแรก ใช้ชื่อช่วงว่า "เบิร์ด อายส์ นิวส์" (Bird Eye's News) รวมทั้งจะจัดให้มีการสำรวจความเห็นของผู้ชม โดยใช้ชื่อว่า เอ็มคอท โพลล์ (MCOT Poll) นอกจากนี้ ยังจะปรับปรุงตราสัญลักษณ์ ของสำนักข่าวไทยขึ้นใหม่ ให้มีความทันสมัย และทันโลกมากขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินการในโอกาสที่ เปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ครบ 10 ปี ในงานครบรอบวันสถาปนา อสมท วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

ตราสัญลักษณ์



พ.ศ. 2498-2517
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม มีตราสัญลักษณ์เป็นรูป "วิชชุประภาเทวี" หมายถึงเทวดาผู้หญิง ที่เป็นเทพเจ้าแห่งสายฟ้า หรือนางพญาแห่งสายฟ้า ประดับด้วยลายเมฆ และสายฟ้า อยู่ภายในรูปวงกลม ที่ออกแบบโดย กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น)



พ.ศ. 2517-2519
หลังจากที่สถานีได้เปลี่ยนไปออกอากาศในระบบวีเอชเอฟ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 แล้ว จึงได้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ เป็นรูปกรอบจอโทรทัศน์ ภายในเป็นรูปคลื่นกระจายสัญญาณ โดยฝั่งซ้ายมีสีที่กระจายอยู่ 3 สี คือแดง เขียว น้ำเงิน และตัวเลข 9 สีดำ อยู่ภายในวงกลมสีเหลือง ซึ่งอยู่ฝั่งขวา อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์นี้ใช้อยู่เพียงระยะสั้นๆ ก่อนจะโอนกิจการไปเป็นของ อ.ส.ม.ท. ในปี พ.ศ. 2520



พ.ศ. 2519-2546
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปกรอบจอโทรทัศน์ ภายในแบ่งเป็นแถบเส้นโค้งสามแถบ มีสามแม่สีแสง คือ แดง เขียว น้ำเงิน และตัวเลข 9 สีดำ ประทับอยู่ในใจกลางสัญลักษณ์ ทั้งหมดเดินเส้นด้วยสีขาว และมีเส้นขอบสีดำอยู่ภายนอกสุด และตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 จึงเพิ่มชื่อย่อ "อ.ส.ม.ท." ไว้ที่ส่วนล่างของตราสัญลักษณ์เดิม



พ.ศ. 2546-ปัจจุบัน
สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปวงกลม มีเส้นตัดกันอยู่ทางซ้ายมือ แทนลูกโลก ทางขวามือมีตัวเลข 9 สีม่วงซ่อนอยู่ ด้านบนมีเส้นโค้งสีเทา ลักษณะโดยรวมคล้ายดวงตา ด้านล่างมีตัวอักษรย่อ “MCOT” หรือ อสมทสีส้ม เดินเส้นขอบสีเทา กำกับอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นหน่วยงานแรก ก่อนที่รัฐบาลจะแปรรูปองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น